กานพลู สมุนไพรพื้นบ้านที่มีลักษณะเหมือนไมโครโฟนเล็กๆ มีขายตามร้านขายยาสมุนไพรทั่วไป ตามตำราแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมไทยได้ระบุสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้เอาไว้ว่า กานพลู ส่วนที่ใช้ทำยากันบ่อยๆ คือ ดอก สรรพคุณ บำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง แน่นจุกเสียด สำหรับข้อมูลจากสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ระบุไว่ว่าใช้สำหรับขับลมเช่นเดียวกัน วิธีใช้คือ ใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอกต้มน้ำดื่มหรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม

สำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ กานพลู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium aromaticum อยู่ในวงศ์ Myrtaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับ ชมพู่และฝรั่ง สารสำคัญของกานพลูในส่วนของดอกมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ Eugenol 72-90 % / Eugenyl acetate 2-27 % / β-caryophyllene 5-12 % / trans-β-caryophyllene 6.3-12.7 % / Vanillin โดยสารสำคัญของกานพลูยังมีอีกจำนวนหนึ่ง แต่ในบทความนี้จะขอยกเฉพาะสารสำคัญที่มีในดอกกานพลูเท่านั้น

สารสำคัญจากดอกกานพลูตัวแรกคือ Eugenol ในดอกกานพลูจะพบ Eugenol อยู่ถึงร้อยละ 72 ถึงร้อยละ 90 ในทางการแพทย์จะสกัดสารสำคัญตัวนี้ออกมาเพื่อใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ นอกจากสรรพคุณเป็นยาชาเฉพาะที่แล้ว Eugenol ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งเยื่อเมือกเพิ่มขึ้นที่บริเวณลำไส้อีกด้วย

จากรูปคือสูตรโครงสร้างของ Eugenol สารสำคัญของดอกการพลูที่มีปริมาณมากที่สุด ตามสรรพคุณที่ตำราโบราณแจ้งไว้คือ รสร้อน กุญแจของรสร้อนในดอกกานพลูอยู่ที่สารสำคัญตัวนี้ เนื่องจากสูตรโครงสร้างของ Eugenol มีความคล้ายคลึงกับ Capsaicin เพียงแต่ Capsaicin มีสายโมเลกุลที่ยาวกว่า และโครงสร้างของโมเลกุลที่ใหญ่กว่า

ดังนั้นจากสูตรโครงสร้างของโมเลกุล Eugenol ที่ปรากฏเป็นการบอกสรรพคุณของสารชนิดนี้ ที่สามารถขับลมในลำไส้ด้วยการกระตุ้นการบีบตัวของไล้ กระบวนการนี้อาจขัดกับคำอธิบายที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตเนื่องจากมีคำอธิบายไว้ว่าลดการบีบตัวของลำไส้ ประเด็นตกอยู่ที่การบีบตัวลำไส้ที่ลดลงกับการขับลม ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ขัดกันเองเพราะการขับลมออกจากลำไส้ต้องอาศัยการเคลื่อนตัวของลำไส้บางส่วน หากลดการบีบตัวของลำไส้ การขับลมจะไม่เกิดขึ้น
ผลของ Eugenol ในดอกกานพลู ในเรื่องการออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ออกฤทธิ์เพียงอ่อนๆ เท่านั้น ไม่สามารถส่งผลไประงับกระแสประสาทที่ถูกส่งลงมาจากเส้นประสาทวากัสได้

สารสำคัญจากดอกการพลูตัวที่ 2 คือ Eugenyl acetate ปริมาณร้อยละ 2-27 คือสารที่มีโครงสร้างของ Eugenol แต่มีการเพิ่มขาของกรดเข้าไป การออกฤทธิ์คล้ายคลึงกันแต่อยู่ในรูปกรดที่เพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการขับลม

กานพลูกับยาธาตุผสมอบเชย ในกรณีของสมุนไพรในตำรับยา

กานพลูเป็นตัวยาที่ถูกนำมาใช้ผสมในยาธาตุผสมอบเชย ในกลุ่มตัวยาช่วย เนื่องจากในทางแพทย์แผนไทยระบุสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้ไว้ว่า เป็นกลุ่มตัวยารสร้อน และโครงสร้างทางเคมีระบุโครงสร้างของสารที่มีลักษณะคล้าย Capsaicin จึงไม่สามารถนำมาใส่เข้าในกลุ่มตัวยาหลักและเพิ่มปริมาณให้เท่าตัวยาหลักได้ เพราะจะขัดกับสรรพคุณที่กำหนดไว้เพื่อรักษาอาการของโรคทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น
ดังนั้นกานพลูจึงอยู่ในฐานะกลุ่มตัวยาช่วย เพื่อเพิ่มการขยับตัวของลำไส้ เพื่อขับลมออกจากลำไส้ และฤทธิ์บางส่วนของกานพลู ยังช่วยระงับความเจ็บปวดได้อีกด้วย

กานพลู สมุนไพรพื้นบ้านที่มีลักษณะเหมือนไมโครโฟนเล็กๆ มี […]