จากบทความก่อนหน้านี้ได้ที่อธิบายสรรพคุณของตัวยาสมุนไพรที่ผสมอยู่ในยาธาตุผสมอบเชยมาแล้ว สำหรับบทความนี้จะมาอธิบายถึงการออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยในแต่ละช่วงของทางเดินอาหาร เพื่อเอาไว้สำหรับบุคคลทั่วไปได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการใช้ยาธาตุผสมอบเชยในแต่ละอาการของตนเอง โดยจะแบ่งทางเดินอาหารออกเป็น 3 ระยะ คือ
ทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่ปากจนถึงลิ้นเปิดปิดกระเพาะอาหารส่วนต้นที่อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร
ทางเดินอาหารส่วนกลาง ตั้งแต่กระเพาะอาหารถึง Ileum หรือลำไส้เล็กส่วนปลาย
ทางเดินอาหารส่วนปลาย ตั้งแต่ Colon หรือลำไส้ใหญ่ จนถึง Rectum หรือไส้ตรง
ในแต่ละช่วงของทางเดินอาหาร ยาธาตุผสมอบเชยจะออกฤทธิ์ต่างกันไปตามความเข้มข้นของตำรับและตามปริมาณของการใช้ โดยจะอธิบายรายละเอียดของการออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยในแต่ละช่วงของทางเดินอาหารดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
การออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยกับทางเดินอาหารส่วนต้น
ทางเดินอาหารส่วนต้นคือส่วนของช่องปากและหลอดอาหาร อาการโรคที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในบริเวณนี้คือหลอดอาหารอักเสบ ชื่อภาษาอังกฤษของโรคนี้คือ Esophagitis คือ ภาวะที่เยื่อบุหลอดอาหารมีอาการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร ส่วนใหญ่อาการหลอดอาหารอักเสบมักเกิดร่วมกับอาการโรคกรดไหลย้อนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดหลอดอาหารอักเสบมักเกิดจาก
การรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ทำให้เยื่อบุผนังหลอดอาหารเกิดอาการเสื่อมจนอักเสบ
ผลของการรับประทานยาน้ำบางชนิด ที่มีความเป็นกรดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ได้รับบาดเจ็บจนอักเสบ
ความผิดปรกติของภูมิคุ้มกัน ที่อยู่ในสถานะทำงานมากเกินไป อาจก่อการอักเสบขึ้นที่หลอดอาหารได้
การออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชย จะช่วยป้องกันการกระทบจากสิ่งที่ก่อการอักเสบได้ โดยละลดความเป็นกรดและป้องกันเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารจนกว่าจะซ่อมแซมตัวเองเสร็จสิ้น หากจะใช้ยาธาตุผสมอบเชยเพื่อบรรเทาอาการหลอดอาหารอักเสบ ยาธาตุผสมอบเชยเพียง 15-30 CC/ครั้ง ก็เพียงพอต่อการรักษา แต่อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการใช้ยาในหนึ่งวันให้เพิ่มมากขึ้น จึงจะเห็นประสิทธิภาพในการรักษา
การออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยกับทางเดินอาหารส่วนกลาง
ทางเดินอาหารส่วนกลาง คือส่วนของกระเพาะอาหารยาวลงมาตลอดถึง ileum หรือลำไส้เล็กส่วนปลาย การเกิดโรคทางเดินอาหารส่วนนี้สามารถเกิดได้ง่ายกว่าทางเดินอาหารส่วนต้น เพราะอวัยวะส่วนนี้สัมผัสโดยตรงกับน้ำย่อยชนิดต่างๆ หากน้ำย่อยมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นมาเพียงนิดเดียว ก็จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการกระทบกระเทือนได้ และหากน้ำย่อยมีความเข้มข้นลดลงก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหารได้
โรคที่เกิดขึ้นกับทางเดินอาหารส่วนกลางบ่อยๆ คือ (PUD) Peptic Ulcer Disease อาการโรคที่สามารถตรวจพบได้คือ พบแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็กส่วนต้น โดยปัจจัยก่อโรคมีดังต่อไปนี้
เกิดจากเชื้อจุลชีพก่อโรคบางชนิด เช่น Helicobacter Pylori
ผลจากการรับประทานอาการรสจัด เช่น เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ที่มากเกินไป จนเยื่อบุทางเดินอาหารไม่สามารถรับค่ากรดนั้นได้ จึงเกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุกระเพาะและลำไส้
ผลจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น สเตียรอยด์หรือแอสไพริน หรือกลุ่มยาที่มีค่าความเป็นกรดสูง ทำให้ผนังเยื่อบุลำไส้เกิดการอักเสบได้เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารรสจัด
ความผิดปรกติของการหลั่งกรด หากกรดมีการหลั่งออกมามากเกินไป โดยเฉพาะกรดในกระเพาะอาหาร จะทำให้เยื่อบุกระเพาะและลำไส้ไม่สามารถทนความเป็นกรดได้ และเกิดอาการอักเสบตามมา
ความเครียด ส่งผลต่อการหลั่งกรดที่มากขึ้น ส่งผลได้เช่นเดียวกับกรณีการหลั่งกรดที่มากเกินไป
การออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยที่ได้ผลดีที่สุด จะใช้ได้ดีกับกรณีการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น กับอาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงหรือเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงเท่านั้น ถึงแม้ว่ายาธาตุผสมอบเชยจะมีสารกลุ่มที่ช่วยฆ่าเชื้ออยู่ในสมุลแว้ง ข่าต้น กระวาน และอบเชยก็ตาม แต่ปริมาณและความเข้มข้นเพียงพอแค่อาการเหล่านี้เท่านั้น หากพยายามใช้ยาธาตุผสมอบเชยเพิ่มปริมาณเพื่อต้องการความแรงของยาก็ไม่เป็นผลดี อาจเกิดอาการท้องอืดตามมาได้เพราะยาธาตุอบเชยอยู่ในรูปแบบยาน้ำ
หากสงสัยว่าติดเชื้อ Helicobacter Pylori หรือหากใช้ยาธาตุผสมอบเชยแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อรับยาที่มีความแรงมากกว่ายาธาตุผสมอบเชย เพราะหากพิจารณาความแรงของฤทธิ์ยาแล้ว หากมีการติดเชื้อ Helicobacter Pylori โดยเฉพาะที่ลำไส้เล็ก ตัวยาจะไม่สามารถจัดการได้เลย
การออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยกับทางเดินอาหารส่วนปลาย
ทางเดินอาหารส่วนปลาย ตั้งแต่ส่วนลำไส้ใหญ่ส่วนต้น จนถึงไส้ตรงทางออกของอุจจาระ แพทย์หลายๆ ท่านหรือตำราหลายๆ เล่มไปเรียกว่าทางเดินอาหาร แต่เรียกว่าระบบขับถ่าย แต่สำหรับในทางการแพทย์แผนไทย จะเรียกลำไส้ใหญ่ว่าเป็นทางเดินอาหารเก่า การเกิดโรคของทางเดินอาหารส่วนนี้ ไม่เหมือนกับส่วนของทางเดินอาหารส่วนต้นและส่วนกลาง เพราะบริเวณทางเดินอาหารส่วนนี้ไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับน้ำย่อย แต่สัมผัสโดยตรงกับอุจจาระ ดังนั้นหากจะเกิดโรคในทางเดินอาหารส่วนนี้ มักจะเกิดจากการติดเชื้อหรือจากอุจจาระที่แข็งเกินไปก่อความเสียหายให้เยื่อบุของลำไส้มากกว่า
โรคที่อาจเกิดขึ้นกับทางเดินอาหารส่วนนี้คือ ลำไส้ใหญ่อักเสบ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Ulcerative Colitis เป็นโรคลำไส้อักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ เป็นการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ที่บริเวณเยื่อบุตลอดลำไส้ใหญ่จนถึงไส้ตรง ส่งผลให้เกิดบาดแผลที่ผนังลำไส้ใหญ่และเลือดออกที่ผนังลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัวบ่อยขึ้น จากพยาธิสภาพของโรคที่กล่าวมา อาการของโรคที่จะแสดงให้เห็น จะมีอาการดังต่อไปนี้
อาการของผู้ป่วยที่เป็นลำไส้อักเสบชนิด Ulcerative Colitis
ท้องร่วงท้องเสีย (ภาษาแพทย์แผนไทยโบราณเรียกลงท้อง) วันละหลายๆ ครั้ง และมีอาการถ่ายอุจจาระปนมูกเลือดออกมาด้วย ซึ่งเลือดที่ออกมาคือเลือดที่ไหลออกมาจากแผลที่บริเวณลำไส้ใหญ่ที่เกิดแผลอักเสบนั่นเอง
ท้องผูก อาการลำไส้อักเสบชนิด Ulcerative Colitis บางตำแหน่งอาจก่อให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น เกิดตรงบริเวณปมประสาทที่ลำไส้ใหญ่ หรือบริเวณที่มีเส้นประสาทผ่านแล้วเส้นประสาทถูกกระทบไปด้วย
มีอาการปวดบีบที่ท้องหรือเจ็บที่ลำไส้ตรง (ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค)
น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย เกิดจากการถ่ายท้องมากเกินไป ควรระวังเรื่องการเสียน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาการช็อคจากการเสียน้ำมาก
เป็นไข้ตัวร้อน อันสืบเนื่องมาจากการอักเสบ
สาเหตุของการเกิดโรคลำไส้อักเสบชนิด Ulcerative Colitis
สาเหตุจากการติดเชื้อ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรืออาหารปนเปื้อนเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การติดเชื้อนี้จะทำให้เม็ดเลือดขาวมาจัดการบริเวณที่ติดเชื้อ จนเกิดการอักเสบขึ้น หากเม็ดเลือดขาวสามารถจัดการเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้ การอักเสบนี้จะเกิดในระยะเวลาสั้นๆ หากเม็ดเลือดขาวจัดการไม่ได้ การอักเสบนี้จะเรื้อรังจนอาจกลายเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังระยะยาวได้
สาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกัน กรณีนี้เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปที่บริเวณลำไส้ ความเป็นไปได้อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานานๆ จนทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการจดจำสภาวะนั้น และยังคงทำงานในลักษณะเดิมๆ อยู่ ทำให้การอักเสบนั้นดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กับอีกกรณีหนึ่งเป็นความผิดปรกติจากการทำงานของภูมิคุ้มกันเอง ที่ทำงานมากเกินไป ก่อการอักเสบโดยไม่มีเชื้อก่อโรคหรือสารก่อภูมิแพ้
การออกฤทธิ์ของยาธาตุผสมอบเชยกับอาการลำไส้ใหญ่อักเสบหรือ Ulcerative Colitis จะต้องใช้ปริมาณที่มากกว่าปรกติ การใช้ต่อ 1 ครั้ง อาจมีความจำเป็นต้องใช้ถึง 60-90 CC เพื่อให้ปริมาณของยาลงไปให้ถึงลำไส้ใหญ่ส่วนที่อักเสบ และห้ามใช้ยาธาตุผสมอบเชยก่อนมื้ออาหารและหลังมื้ออาหารทันทีโดยเด็ดขาด เพราะตัวยาอาจถูกน้ำย่อยที่มีความเป็นกรด ฆ่าฤทธิ์ตัวยาจนหมดฤทธิ์
สำหรับกรณีที่จะใช้ยาธาตุผสมอบเชยแล้วไม่เห็นผล คือ กรณีของ Ulcerative Colitis ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน หากมีอาการดังกล่าวให้ปรึกษาแพทย์แผนไทยหรือเภสัชกรไทยก่อนใช้ยา