สำหรับบทความนี้ จะขอกล่าวถึงโรคกรดไหลย้อนกับอาการโรคโบราณตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยในตำราเรียนของกองประกอบโรคศิลป์ โดยนำโรคโบราณที่ใกล้เคียงที่สุดมาอธิบายเปรียบเทียบกรดไหลย้อน เพื่อให้เห็นภาพว่าคนโบราณมองภาพโรคกรดไหลย้อนอย่างไร
ถึงแม้ว่ากรดไหลย้อนหรือ GERD จะเป็นชื่อโรคสมัยใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนโบราณจะไม่มีอาการโรคนี้ ถึงแม้การใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของคนสมัยนี้จะต่างไปจากการใช้ชีวิตของคนสมัยก่อนมาก แต่การใช้ชีวิตบางประการแล้วก่อโรคบางอย่างก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน กรดไหลย้อนเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาทำความเข้าใจถึงโรคที่คนโบราณและคนในยุค 4.0 เป็นเหมือนกัน เพราะโรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารรสจัดมากเกินไป รับประทานอาหารผิดเวลา หรือแม้กระทั่งอิริยาบถหลังรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมก่อโรคที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
หากเราซึ่งเป็นคนสมัยนี้ จะเทียบโรคกรดไหลย้อนกับโรคตามตำราโบราณ จะเทียบได้จากอาการที่ปรากฏที่มีบอกไว้ในโรคเท่านั้น จะเทียบจะชื่อโรคโดยตรงไม่ได้ เพราะชื่อโรคที่ใช้เป็นชื่อโรคภาษาไทยเก่า ความหมายของชื่ออาจคลาดเคลื่อนได้จากการแปลความ แต่อาการที่แสดงอยู่จะบอกเราได้ว่าโรคที่โบราณกล่าวไว้ กำลังหมายถึงโรคอะไรในปัจจุบัน แพทย์แผนไทยบางท่านพยายามตั้งชื่อโรคกรดไหลย้อนโดยแปลความจากชื่อปัจจุบันแปลไปให้เป็นภาษาโบราณ ซึ่งชื่อโรคที่ตั้งใหม่ไม่ได้มีระบุอยู่ในตำราเรียนโบราณใดๆ เลย หากจะกล่าวถึงโรคโบราณตามตำราเรียนที่มีความใกล้เคียงกับกรดไหลย้อนมากที่สุด คงหนีไม่พ้น กษัยท้น
อาการโรคของกษัยท้น ตามตำราเรียนเวชกรรมไทยของกองประกอบโรคศิลป์มีดังนี้ กษัยท้น อาการ เมื่อท้องว่างอยู่และยังไม่ได้บริโภคอาหารก็สงบลงเป็นปรกติ ครั้นบริโภคอาหารเข้าไปน้อยก็ดี มากก็ดี จึงกระทำให้ท้นขึ้นมายอดอก บางที่ให้อาเจียน บางทีให้แน่นอกและชายโครง ให้หายใจไม่คล่องท้อง แล้วกระทำให้แน่นขึ้นมาแต่ท้องน้อย ชักเอากระเพาะข้าวแขวนขึ้น
จะเห็นว่าลักษณะอาการที่ระบุไว้ คล้ายกับโรคกรดไหลย้อนในยุค 4.0 อย่างเห็นได้ชัด แต่อาการที่เด่นชัดที่สุดคือ “ครั้นบริโภคอาหารเข้าไปน้อยก็ดี มากก็ดี จึงกระทำให้ท้นขึ้นมายอดอก” อาการนี้หากจะแปลความหมายให้เป็นภาษาปัจจุบันและเทียบพยาธิสภาพของโรคคือ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปไม่ว่ามากหรือน้อย จะเกิดอาการท้นขึ้นมาที่ยอดอกนั้นคือบริเวณหลอดอาหารส่วนต้น การที่จะมีน้ำย่อยหรืออะไรก็ตามที่สามารถท้นขึ้นมายอดอกได้นั้น นั่นหมายถึง ลิ้นเปิดปิดที่อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารส่วนล่างมันเสีย ลิ้นนี้ชื่อ esophageal sphincter ถูกน้ำย่อยกระเพาะอาหารหรืออาหารรสจัดๆ เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็มจัดๆ กัดจนเซลล์ได้รับบาดเจ็บจนเสียหน้าที่ ไม่สามารถป้องกันอาหารหรือน้ำย่อยไม่ให้ท้นย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารได้อีก คนโบราณจึงเรียกมันว่ากษัยท้น หรือแปลให้เข้าใจง่ายๆ คือ โรคอันเกิดมาจากความเสื่อมของร่างกายแล้วทำให้เกิดอาการท้นขึ้นที่ทางเดินอาหารส่วนบนนั่นเอง
ในเรื่องของการรักษากษัยท้นที่ระบุไว้ในตำราเรียนเวชกรรมไทยของกองประกอบโรคศิลป์นั้น ระบุยารักษากษัยท้นไว้เพียงตัวเดียวท้ายตำรา คือ ยากษัยทั้งปวง ซึ่งใช้รักษาอาการกรดไหลย้อนไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ยาที่ใช้รักษากษัยท้นเฉพาะตัวมีอยู่ในตำราแพทย์โบราณเรื่องกษัย ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลทั่วไปจะเข้าถึง เพราะเนื้อหาตำรานี้ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร เนื่องจากเป็นเอกสารโบราณที่มีอายุนับร้อยปีและใกล้จะสลายลงเป็นธุลี แต่หากใครเป็นกรดไหลย้อนอยู่แล้วต้องการใช้ยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการให้กับตัวเอง ผู้เขียนขอแนะนำยาธาตุผสมอบเชยเป็นตัวเลือกเดียวและตัวเลือกสุดท้าย เพราะยาธาตุผสมอบเชยในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ค่อนข้างง่าย แล้วประกอบกับรสชาติของยาก็รับประทานง่าย ทั้งนี้รสชาติของยาธาตุผสมอบเชยก็แตกต่างกันออกไปตามสูตรของผู้ผลิตแต่ละท่าน ขอให้เลือกซื้อด้วยวิจารณญาณของท่านเอง